6.เครือหมาน้อย

สมุนไพรฤทธิ์เย็น ชื่อน่ารักน่าชังนี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักวิทยาศาสตร์ในฐานะของพืชที่มีเพคตินมาก เมื่อนำใบของเครือหมาน้อยมาขยำ กรองเอาแต่น้ำทิ้งไว้ น้ำจะมีลักษณะเป็นวุ้น ชาวอีสานมีเมนูที่ทำจากน้ำของใบหมาน้อย ปรุงรสด้วยน้ำป่น น้ำปลาร้า และน้ำปลา ปรุงกลิ่นให้หอมด้วยตะไคร้และมะเขือขื่น ปรุงเนื้อสัมผัสด้วยข้าวคั่วใหม่ๆ รอจนแข็งเป็นตัวแล้วจึงคว่ำใส่จาน โรยด้วยต้นหอมผักชี ตั้งชื่อชวนสงสัยว่า ‘ลาบหมาน้อย’ ซึ่งสารภาพว่าเมื่อได้ยินครั้งแรกกระโดดออกจากวงกับข้าวแทบไม่ทัน ส่วนที่มาของชื่อหมาน้อย มีการตั้งสมมติฐานกันว่าเพราะเครือหมาน้อยมีขนสีขาวบางๆ คลุมอยู่ทั่วทั้งส่วนเถาและส่วนใบ ทำให้ดูปุกปุยเหมือนหมาน้อย แต่ในบางพื้นที่เรียกกันว่าเครือหมอน้อยหรือเถาหมอน้อย จึงจนใจที่จะสรุปที่มาของชื่อนี้ได้ แต่เอาเป็นว่า หากได้ยินเมนูลาบหมาน้อยก็อย่าเพิ่งตีโพยตีพายก็แล้วกัน

7.มะระขี้นก

ผักพื้นบ้านหน้าตาดาดดื่นชนิดนี้นับว่าเป็นผักสารพัดประโยชน์ที่ขนเอาสรรพคุณทางยามาอัดไว้ในผลเล็กๆ อย่างแน่นเอี้ยด ผิวตะปุ่มตะป่ำ รสขมปี๋ และชื่อชวนแหวะของมะระลูกน้อยๆ นี้ จึงไม่อาจทำให้คนไทยมองข้ามมะระขี้นกไปได้ มะระขี้นกถูกเชื้อเชิญมาร่วมสำรับทั้งในฐานะของผักเคียง แกงจืด แกงเผ็ด อีกสารพัดเมนู ทั้งใบของมะระขี้นกก็นิยมนำมาลวกจิ้มน้ำพริก ทำแกงเลียง แกงป่า ได้รสเข้มข้นอย่าบอกใคร ส่วนที่มาของชื่อมะระขี้นกก็อย่างที่พอจะเดากันได้ ด้วยผลสุกของมะระขี้นกนั้นเมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็นแฉกเพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน ล่อหูล่อตาให้นกน้อยใหญ่มาจิกกิน พาเอาเมล็ดของมะระติดตัวไปด้วย เมื่อนกไปถ่ายไว้ที่ไหน ต้นมะระขี้นกก็จะเจริญเติบโตได้จากที่นั้น

8.เห็ดกระด้าง

เห็ดกระด้าง หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าเห็ดบทและชาวเหนือเรียกว่าเห็ดลม คือเห็ดท้องถิ่นที่นิยมกินกันมากในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง พบได้ตามขอนไม้ผุพังในพื้นที่ชื้นแฉะ เรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่เห็ดกระด้างโปรดปรานเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันนี้วิทยาการการเกษตรก็สามารถเพาะปลูกเห็ดกระด้างในโรงเรือนได้แล้ว ทำให้เห็ดกระด้างมีให้กินกันแทบทุกพื้นที่ เห็ดกระด้างดอกอ่อนนำมาทำอาหารได้สารพัดชนิด ไม่ว่าจะแกงใส่ชะอม แกงใส่หน่อไม้ ทำซุบเห็ดแซ่บๆ แบบอีสาน หรือจะนำมาผัดน้ำมันหอยง่ายๆ ก็อร่อยเหมือนกัน ส่วนตัวผู้เขียนขอลงคะแนนให้กับการลวกจิ้มน้ำพริกตาแดงมากที่สุด ด้วยเห็ดกระด้างมีเท็กซ์เจอร์เฉพาะที่ไม่เหมือนเห็ดใดๆ ส่วนดอกแก่จะมีเนื้อเหนียวและแข็งแห้ง พิเศษตรงที่เก็บดอกแห้งๆ เหล่านี้ไว้กินได้นานข้ามปี โดยนำดอกแห้งไปแช่น้ำให้นิ่มลง หั่นฝอยใส่แกงผัก แกงแค หรือสับละเอียดปรุงเป็นลาบก็ให้เนื้อสัมผัสที่แปลกออกไป ทดแทนเนื้อสัตว์ในมื้อได้เป็นอย่างดี ความเหนียว แข็ง แห้งของดอกแก่ที่ทำให้เก็บไว้บริโภคได้ทั้งปีนี้ก็คือที่มาของชื่อ ‘เห็ดกระด้าง’ นั่นเอง

9.ผักคาวตอง

จะเรียกว่าผักคาวตอง ผักคาวปลา หรือพลูคาวก็คือพืชชนิดเดียวกัน หลายคนแยกไม่ออกเพราะคาวตองมีหน้าตาคลับคล้ายคลับคลากับพลูที่นำมากินเป็นเมี่ยง แต่เมื่อลองขยี้ใบสดมาดมดูจะแตกต่างจากพลูตรงกลิ่นที่เหมือนกลิ่นคาวปลาชัดเจน บ้างก็ว่ามีรสฉุน บางก็ว่ามีรสฝาดเฝื่อน แต่หากลองได้ใส่ในแกงบอน หรือกินเคียงกับลาบกับน้ำพริกแล้วละก็รับรองเข้ากันอย่างบอกไม่ถูก ส่วนที่ชื่อผักคาวตอง คาวปลา และพลูคาวนั้นก็เดาไม่ยากว่ามีที่มาจากกลิ่นคาวของใบสดนั่นเอง

Design By Jintana