ชื่อเสียงเรียงนามของคนแต่ละคนนั้นเป็นเหมือนปราการด่านแรกของการเปิดใจให้ในฐานะคน (อยาก) รู้จักกัน บ้างก็ว่าชื่อดีเป็นศรีแก่ตัว บ้างก็ว่าหากตัวดีแล้วชื่อนั้นก็ไม่สำคัญแต่อย่างใด กระนั้นเลย ครั้งใดที่ได้ยินใครชื่อแปลกสะดุดหูเป็นอันต้องอยากทำความรู้จักตัวตนเขาหรือเธอให้มากเป็นพิเศษจริงๆ
 
กับเรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินชื่อแปลกประหลาดจากเสียงแม่ค้าเจื้อยแจ้วในตลาด หรือจากแม่ครัวตำรับพื้นบ้านยามเดินทางไปต่างจังหวัดก็เป็นอันตกหลุมพราง จะต้องพยายามไปเห็นหน้าค่าตาผักชื่อประหลาดเหล่านี้ให้ได้ พร้อมคำถามที่ว่า ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมากันนะ?
 

ผักพื้นบ้านชื่อสุดแปลก 9 ชนิด

1.ผักพ่อค้าตีเมีย

ผักชื่อโหดนี้มีชื่ออื่นๆ ในถิ่นเหนือว่าผักกับแก้ ส่วนคนภาคกลางรู้จักกันในชื่อเฟิร์นแผง เป็นไม้ล้มลุกตระกูลเฟิร์น ใบม้วนงอเป็นเกลียว พบได้ตามที่ค่อนข้างเย็นชื้นมีลักษณะเด่นคือเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ ไม่ว่าจะนำไปปรุงผ่านวิธีใดๆ ก็ตาม จึงมีตำนานเล่ากันโดยคร่าวๆ ว่า ครั้งหนึ่งยังมีพ่อค้าผู้หนึ่งเก็บเฟิร์นชนิดนี้มาให้เมียทำกับข้าว ฝ่ายแม่บ้านก็ทำกับข้าวไปตามปกติ แต่เมื่อได้ล้อมวงกินข้าวกัน พ่อค้าผู้หิวโซมาทั้งวันได้กินแกงผักของเมียคำแรกก็ถึงกับควันออกหู ด้วยมีผักเจ้ากรรมที่ยังแข็งกระด้างอยู่ นึกโมโหที่เมียไม่รู้จักทำกับข้าวไว้คอยท่า กลับทำชุ่ยๆ จนผักยังไม่ทันสุกดี จึงลงมือทุบตีเมียเสียเดี๋ยวนั้น กลายเป็นชื่อ ‘ผักพ่อค้าตีเมีย’ มาถึงทุกวันนี้ สำหรับผักพ่อค้าตีเมียนั้นทางภาคเหนือนิยมนำไปปรุงเป็นแกงผัก แกงแค และเป็นผักนึ่งเคียงน้ำพริก โดยนิยมเก็บเฉพาะใบอ่อนที่ยังม้วนงออยู่ ส่วนใบแก่ที่คลี่เต็มใบแล้วไม่นิยมกิน ผักพ่อค้าตีเมียยังได้ชื่อว่าเป็นผักพื้นบ้านที่มีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงอีกด้วย

2.ผักลืมผัว

ใครไม่รู้จักมาก่อนก็คงนึกไม่ถึงว่าจะกินได้ เพราะผักลืมผัวเป็นพืชต้นเล็กๆ มีดอกสีม่วงไซส์จิ๋วน่ารัก มักออกเป็นผืนอยู่ตามพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวจึงพบได้มากแถบภาคอีสานและภาคกลาง พบในช่วงปลายฝนเป็นส่วนใหญ่ ว่ากันว่าเป็นผักที่มีให้กินแค่ปีละครั้ง ยิ่งในยุคที่พืชอื่นๆ ในท้องนาถูกเหมาว่าเป็นวัชพืชที่ต้องกำจัดด้วยสารเคมี ผักลืมผัวเลยยิ่งหายากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ผักลืมผัวแม้มีลำต้นเรียวเล็กแต่ก็เป็นพืชที่มีน้ำมาก จึงกรอบ อร่อย มีรสฝาดเล็กน้อยและมีกลิ่นเฉพาะตัวจึงเหมาะกับการกินเป็นผักเคียงเมนูอาหารอีสาน ไม่ว่าจะเป็นแจ่ว ป่น ลาบ ก้อย หรือจะใส่ในแกงหน่อไม้ แกงอ่อมก็ช่วยชูกลิ่นให้แตกต่าง ว่ากันว่าอร่อยจนเมียที่จัดแจงกับข้าวอยู่เถียงนาเมื่อได้ชิมก็ติดลมบน นั่งจกข้าวเหนียวจิ้มป่น แนมผักชนิดนี้แบบกินเอาๆ จนลืมเรียกผัวที่ยังคงทำงานอยู่กลางทุ่งนามาร่วมวงอาหารกลางวัน จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ผักลืมผัว’ นั่นเอง

3.ผักลืมชู้

อีกหนึ่งพืชตระกูลลืมที่ชื่อแปลกจนเราลืมไม่ลง ก็คือ ‘ผักลืมชู้’ หรือต้นก้ามกุ้ง ผักลืมชู้เป็นไม้ยืนต้นสูงเต็มที่ได้ถึง 7-8 เมตร มีรสมันและฝาดเล็กน้อย ส่วนที่นำมาทำกินกันก็คือส่วนใบอ่อน เลือกใบที่แตกยอดใหม่ๆ ผิวยังมันเลื่อม นำมาเป็นผักแนมแจ่ว ป่น และอาหารอื่นๆ ได้อร่อยเหาะ พบมากในภาคอีสาน แต่ภาคใต้ก็นิยมกินด้วยเช่นกัน และรู้จักกันในชื่อแก้มช่อนนั่นเอง ตำนานของชื่อผักลืมชู้ก็คือ ครั้งหนึ่งมีพ่อบ้านใจกล้าคนหนึ่งได้นัดหมายว่าจะไปเจอกับชู้รัก แต่ก่อนเวลานัดหมายดันหิวขึ้นมาจึงนั่งโซ้ยกับข้าวกับปลาแนมด้วยผักลืมชู้แบบอร่อยเพลินเกินห้ามใจ จนสุดท้ายเมื่ออิ่มท้องแล้วก็ลืมเวลานัดชู้ไปเสียนี่ ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่

4.ส้มสันดาน

ส้มสันดาน ไม้เถารสเปรี้ยวที่พบได้ในภาคอีสานและภาคใต้ ทางฝั่งอีสานมักเรียกว่าส้มสันดานหรือส้มพอดี แต่หากเดินทางลงใต้ไปถึงสุราษฎร์ฯ หรือปัตตานีจะเรียกว่าส้อมออม ส้มข้าว นิยมกินเป็นอาหารเฉพาะส่วนยอดอ่อน จะกินเป็นผักเคียงหรือจะใส่ในแกง ส้มต้ม ยำ เพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวก็ได้เหมือนกัน ส่วนเหง้าใช้เป็นยาสมุนไพรขับลมในท้องด้วยในบางตำรา ที่มาของชื่อส้มสันดานก็คือ เชื่อกันว่าผักชนิดนี้ เมื่อนำไปปรุงแกงส้มต้มยำ จะใส่น้อยหรือมากเพียงใดก็ยังคงรสชาติความเปรี้ยวไว้ในระดับเดิม ไม่เปรี้ยวขึ้นจนเกินพอดีแต่อย่างใด เรียกว่ามีรสเปรี้ยวเป็นสันดานอยู่เท่าไหนก็เท่านั้น บางพื้นที่จึงเรียกชื่อที่นุ่มนวลลงมาบ้างอย่าง ‘ส้มพอดี’ นั่นเอง

5.ผักปู่ย่า

‘ส้าสองเฒ่าเฝ้าดอย’ คือชื่อเล่นสุดสร้างสรรค์ของยำผักปู่ย่า เนื่องด้วยผักปู่ย่าหรือช้ำเลือดนั้นเป็นผักที่พบได้ในพื้นที่ชายป่า เด็กๆ จึงมักถูกผู้ใหญ่อำเอาว่ามีผู้เฒ่าสองคนคอยอยู่บนดอย ผักปู่ย่าต้นสูงประมาณ 1 เมตร มีหนามแหลมเต็มไปหมดทั้งต้นและก้านใบ กระทั่งยอดที่นิยมนำมากินกันก็เต็มไปด้วยหนามแหลมดูน่ากลัว ตามสายตาของผู้เขียนในวัยเด็ก ผักปู่ย่าจึงน่ากลัวทวีคูณขึ้นไปอีก เมื่อใดที่เห็นผู้ใหญ่ขมวดผักปู่ย่าในส้าผัก (ยำผักแบบเหนือ ทำจากผักหลายชนิดยำรวมกัน) ใส่ปากแล้วเคี้ยวกร้วมๆ เป็นอันต้องขนลุกขนชันไปเสียทุกที กว่าจะมารู้รสของผักปู่ย่าเอาก็ตอนโต ความเปรี้ยว ฝาด และเผ็ดซ่าเล็กน้อยของผักปู่ย่าช่วยชูโรง ‘ส้าผัก’ ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเข้าใจเลยคือชื่อของผักปู่ย่าที่ไม่เห็นว่าจะเกี่ยวกับญาติผู้ใหญ่แต่ประการใด จนวันหนึ่งที่ได้ไปเยี่ยมบ้านมิตรสหายทางนครพนมแล้วได้ยินปู่ๆ ย่าๆ เรียกผักหนามๆ ชนิดนี้ว่าผักขะยา จึงได้ถึงบางอ้อว่าผักปู่ย่าน่าจะเป็นชื่อที่เพี้ยนมาตามวัฒนธรรมเสียมากกว่า แต่จนแล้วจนรอด ถึงทุกวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังชอบเรียกยำผักปู่ย่าว่าส้าสองเฒ่าเฝ้าดอยอยู่ดี

Design By Jintana